
ปัจจุบัน “แผนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรถไฟความเร็วสูง: High Speed Rail” กำลังถูกจับตามอง เพราะเป็นโครงการที่ส่งผลต่อการลงทุนของนักลงทุน การพัฒนาในพื้นที่ต่าง ๆ และยังมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่
เซ็นจูรี่ 21 (ประเทศไทย) จำกัด จึงได้ร่วมมือกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มธ. ศูนย์รังสิต จัดทำผลการสำรวจด้านอสังหาริมทรัพย์ เรื่อง “ความต้องการที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุด หรือคอนโดมิเนียม แบบใกล้โครงการแนวรถไฟความเร็วสูง” ขึ้น
ผลการสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสนใจซื้อสูงถึง 87.7%
โดยสนใจซื้อที่อยู่อาศัยในรูปแบบคอนโดมิเนียมมากกว่า 50% ส่วนอีก 50% ที่เหลือ สนใจซื้อบ้านเดี่ยว และทาวน์เฮาส์ ตามลำดับ
สำหรับเส้นทางที่กลุ่มตัวอย่างต้องการให้เกิดขึ้นก่อนเป็นอันดับแรกคือ เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ รองลงมาได้แก่ เส้นทางกรุงเทพฯ–นครราชสีมา กรุงเทพฯ-หัวหิน กรุงเทพฯ-ระยอง ตามลำดับ
สำหรับเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ในมุมมองของนักพัฒนามองว่าเป็นเส้นทางที่ยากที่สุด เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นหุบเขา ทำให้มีความยากลำบากในการสร้างแนวรถไฟความเร็วสูงมากกว่าเส้นทางอื่นประกอบกับเป็นเส้นทางระยะยาวถึง 745 กิโลเมตร อาจมีปัญหาเรื่องการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
และหากภาครัฐเริ่มดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางใดก็ตาม คาดว่าจะมีนักลงทุนเข้าไปเก็งพื้นที่ทำเลทองตามแนวโครงการ เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยแบบคอนโดมิเนียมเพิ่มมากขึ้น
กิติศักดิ์ จำปาทิพย์พงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเซ็นจูรี่ 21 (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “หากมีแนวโน้มสูง และมีการกำหนดสถานีที่ชัดเจน การพัฒนาก็จะเกิดขึ้นจนเห็นได้ชัดเจนตามไปด้วย โดยเฉพาะหัวเมืองต่าง ๆ ที่เป็นปลายทาง บริเวณรอบ ๆ สถานีก็จะเกิดการพัฒนาก่อนเป็นลำดับแรก ราคาที่ดินจะสูงขึ้น และมีการพัฒนาพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้รองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในบริเวณนั้น”
ไม่ว่าเส้นทางใดจะเกิดขึ้นก่อน ในทุกเส้นทางย่อมมีการพัฒนาตามไปอย่างแน่นอน และสิ่งที่ประชาชนจะได้รับในลักษณะกายภาพ คือ ความสะดวกสบาย และความรวดเร็วในการเดินทาง หากแต่มุมมองของนักลงทุนจะเกิดมูลค่าในอนาคต นับเป็นกำไรในการลงทุนของชีวิตระยะยาว.